วันหนึ่ง ลูกศิษย์ บอกว่า อจ สอนเขียนบทความ ให้ความรู้คนอื่น ให้หน่อย
"จงสอน สิ่งที่ เราอยากรู้เมื่อเรายังเด็กกว่านี้ ไม่มีความรู้อะไร ช่วยเหลือให้เราดีขึ้น"
Teach younger you. สอนคนอื่น เหมือนสอนตัวเองที่ยังเยาว์วัย ไร้เดียงสา
แค่นี้
- อจ สุรัตน์
วันหนึ่ง ลูกศิษย์ บอกว่า อจ สอนเขียนบทความ ให้ความรู้คนอื่น ให้หน่อย
"จงสอน สิ่งที่ เราอยากรู้เมื่อเรายังเด็กกว่านี้ ไม่มีความรู้อะไร ช่วยเหลือให้เราดีขึ้น"
Teach younger you. สอนคนอื่น เหมือนสอนตัวเองที่ยังเยาว์วัย ไร้เดียงสา
แค่นี้
- อจ สุรัตน์
ในแต่ละวัน เราฟังคนอื่นบ่นมามากแค่ไหน บางคนบอกว่ามาก บางคนบอกว่า ชั้นสิ เป็นคนที่บ่นมากกว่า
มันได้ระบาย ความอัดอั้นตันใจ บ่นแล้วสมองโล่ง ว่างั้น
มีครั้งนึง คนขี้บ่นบอกว่า เมื่อบ่นบางอย่างออกไป สมอง ความคิด ความรู้สึกน่าจะโล่ง ส่วนคนที่รับฟัง จะเบื่อหรือจะตั้งใจฟัง ก็เป็นเรื่องของคนฟัง เหมือนการเขวี้ยงขยะลงในถังขยะ ที่เราก็ไม่ได้สนใจว่า คนจะเอาขยะไปทิ้งที่ไหนต่อ สบายใจดี
แต่การบ่นมันดีต่อใจจริงเหรอ?
ต้องบอกว่า มันเป็นความคิดที่ผิด
“การบ่นเหมือนการระบาย แต่บ่อยครั้งมันยิ่งทำให้เราหงุดหงิดมากขึ้น” ดร.เบิร์นสตีน ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าว และมีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันเรื่องนี้
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cerebral Cortex แสดงให้เห็นว่า **การบ่นซ้ำ ๆ จะกระตุ้นและเสริมสร้างเส้นทางประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงลบ นั่นหมายความว่า ยิ่งเราบ่นมากเท่าไร สมองก็จะยิ่ง "คุ้นชิน" กับรูปแบบความคิดแบบนั้นมากขึ้น เป็นเหมือนการ “ปูทาง” ให้สมองเลือกความคิดในแง่ร้ายได้ง่ายและบ่อยขึ้น
หลักการนี้คล้ายกับการฝึกกล้ามเนื้อ หากเราออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนใดซ้ำ ๆ กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็จะแข็งแรงขึ้น ในทางเดียวกัน **การใช้เส้นทางประสาทบางเส้นทางซ้ำ ๆ จะทำให้มันถูกเสริมสร้างและกลายเป็นอัตโนมัติ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Neuroplasticity หรือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของสมอง
การหมุนวนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ แบบไม่หาทางออกหรือไม่ยอมรับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มันจะกลายเป็น "rumination" หรือ **การครุ่นคิดซ้ำ ๆ ที่เป็นอันตรายทางจิตใจ**
นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า “toxic venting” คือการระบายที่ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น แต่กลับตอกย้ำความรู้สึกแย่ เช่น
- ยิ่งพูดยิ่งโกรธ
- ยิ่งเล่า ยิ่งรู้สึกเป็นเหยื่อ
- ยิ่งแชร์ ยิ่งเสพติดการได้รับความเห็นใจ
ดร.เจฟฟรีย์ เบิร์นสตีน นักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี เสนอวิธีแก้ไขง่าย ๆ แต่ทรงพลัง นั่นคือ การถามตัวเอง (หรือถามลูก) ว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?”
น่าสนใจไหม คำถามสั้น ๆ แค่นี้ เปลี่ยนความคิดได้เหรอ
การถามว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?” เป็นการกระตุ้นให้เกิด การมองใหม่ (Cognitive Reappraisal) ซึ่งเป็นเทคนิคทางจิตวิทยา ที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าช่วยคุมอารมณ์ได้ เพราะเป็นการบอกว่า มันมีมุมมองเปรียบเทียบ เปิดใจให้กว้าง ความทุกข์เรา มันปะติ๋วนะ
ตัวอย่าง
เด็กชายที่บ่นเรื่องอาหารกลางวัน: เมื่อแม่ถามเขาว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?” เด็กชายเริ่มคิด และตอบว่า “ก็มีเด็กบางคนที่ไม่มีอาหารกลางวันกินเลย” แม้เขาจะยังไม่ชอบแซนด์วิชไก่งวง แต่ความรู้สึกขอบคุณที่เกิดขึ้นช่วยลดความหงุดหงิดลงได้
เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory)
“พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่เรียนรู้ได้จากการสังเกตและเลียนแบบ”
ดังนั้น หากผู้ใหญ่สามารถฝึกตั้งคำถาม “เมื่อเทียบกับอะไร?” แทนการบ่นให้เป็นนิสัย เด็ก ๆ ก็จะซึมซับวิธีคิดที่ยืดหยุ่นและสร้างสรรค์นี้เช่นกัน
ลองดูคำถามกับผู้ใหญ่กัน
ผู้ใหญ่ที่กำลังเผชิญกับความผิดหวังในอาชีพ ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ความวิตกเรื่องอายุ ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ได้เช่นกัน
เช่น ชายคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อถามตัวเองว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?” เขาพบว่ากำลังเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เลือกเส้นทางชีวิตต่างออกไป ซึ่งไม่ได้ดีกว่าเสมอไป นั่นสิ ความสุขมันก็ไม่ได้วัดจากการที่สูญเสีย ณ.เวลานั้น
เห็นไหม คือ ก็ไม่ได้ ว่าหุบปากห้ามบ่นเลย แต่หากมันบ่น จนเป็นนิสัยขี้บ่น มันยิ่งแย่ต่อสมองและจิตใจ ของคนบ่นเอง
อจ สุรัตน์
การหึงหวง ไม่ใช่เพราะรักเขา แต่เป็นเพราะรักตัวเอง
จริง ๆ แล้ว มันมาจากความกลัวล้วน ๆ
กลัวว่าเขาจะไม่สนใจเราเหมือนเดิม
กลัวว่าเขาจะไปชอบคนอื่นมากกว่า
กลัวว่าเราจะ “ไม่พอ” สำหรับเขา
แล้วก็กลัวว่าความรู้สึกที่ให้ไปจะโดนมองข้าม
หึงเพราะกลัวเสีย ไม่ใช่เพราะหวังดี
หวงเพราะกลัวเขาไปจากเรา ไม่ใช่เพราะอยากให้เขามีความสุข
บางทีเราก็แค่ไม่อยากแพ้ ไม่อยากถูกแทนที่
มันเลยกลายเป็นความรู้สึกที่เหนื่อย ทั้งกับตัวเองแล้วก็คนที่อยู่ข้าง ๆ
แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น
ความหึงหวงมันสะท้อน “ความยึดมั่นถือมั่น” ในตัวตนและความเป็นเจ้าของ
เป็นเหมือนกับการยึดคนคนหนึ่งไว้ให้เป็นของเรา ทั้งที่ในความเป็นจริง
ไม่มีใครเป็นของใครได้ตลอดไป
นักปราชญ์หลายคนเคยพูดไว้ว่า
“ความรักที่แท้จริงคือการปล่อยให้เป็นอิสระ ไม่ใช่การกักขังไว้ด้วยความกลัว”
เพราะถ้ารักแล้วต้องหวง ต้องควบคุม ต้องกลัวว่าจะถูกแย่ง
นั่นอาจไม่ใช่ความรัก แต่มันคือความอยากครอบครอง
และเมื่อความรักกลายเป็นกรง ความสุขก็จะบินหนีไปเสมอ
สุดท้ายแล้ว…
การปล่อยให้เขาได้เลือกทางของตัวเอง โดยที่เรายังยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง
นั่นแหละ คือรักที่โตพอ และรักตัวเองเป็นจริง ๆ
ลูกฉันเป็นคนดี
เพราะยังไงก็ยังเป็นคน คนนั้น ฝังด้วยความเห็นแก่ตัว พ่อแม่สอนแต่ความรักในครอบครัว แต่ไม่ได้สอนให้การเผื่อแผ่ความรักและการลดละความรักตัวเองจนเดือดร้อนคนอื่น
น่าเสียดาย เพราะคนที่จากไป เค้าก็รักชีวิตตัวเองเหมือนกัน
- อจ สุรัตน์
"คำพูดที่เศร้าที่สุดในโลกอาจเป็นเพียงคำว่า ‘มันอาจจะเป็นไปได้’" — John Greenleaf Whittier
ความเสียใจคือประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ แต่กลับเป็นสิ่งที่เราเข้าใจผิดอยู่เสมอ หลายคนคิดว่าความเสียใจเกิดจากอดีต—จากความผิดพลาด โอกาสที่พลาดไป หรือความสัมพันธ์ที่จบลง ทว่าในความเป็นจริง น้ำหนักที่แท้จริงของความเสียใจ อาจไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อยู่ที่ “อนาคต” ที่เราคิดว่าเราได้สูญเสียไปต่างหาก
แม้ความเสียใจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และเป็นธรรมชาติของสิ่งมีขีวิต แต่บางครั้ง มันกลับดึงเราให้ตกหลุมลึกที่หาทางขึ้นไม่เจอ และวิ่งอยู่ในวังวนของความเสียใจ ซึ่งอาจทำให้เสียช่วงเวลาของชีวิตเราไปอย่างน่าเสียดาย เราจึงควรเรียนรู้ จิตวิทยาแห่งความเสียใจ ไว้เป็นเกราะป้องกันตัวเองและสร้างเกราะให้คนที่เรารัก
แม้โดยผิวเผิน ความเสียใจจะดูเหมือนเป็นอารมณ์ที่หวนคิดถึงอดีต แต่งานวิจัยทางจิตวิทยากลับพบว่า ความเสียใจนั้นมีลักษณะ “มองไปข้างหน้า”
Neal Roese นักจิตวิทยา ที่มีงานเรื่องความเสียใจ >> wiki https://en.wikipedia.org/wiki/Neal_Roese
จากการศึกษาโดย Neal Roese นักจิตวิทยาชั้นนำในปี 2005 ชี้ให้เห็นว่า ความเสียใจไม่ได้เกิดจากการคิดวนเวียนกับอดีตเท่านั้น แต่เป็นการ “จินตนาการว่าอดีตควรจะนำไปสู่ปัจจุบันหรืออนาคตที่ดีกว่านี้” กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือการคิดแบบ “ถ้าตอนนั้นฉัน…” ซึ่งเป็นการสร้างภาพอนาคตทางเลือกที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
ข้อมูลจาก สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ยังระบุว่า ความเสียใจมักจะมาพร้อมกับความวิตกกังวล ความกลัว หรือความเศร้า ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ในอดีตโดยตรง แต่เกิดจากสิ่งที่เราคิดว่า “มันน่าจะเกิดขึ้นได้” ในอนาคตต่างหาก
จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive Psychology) บอกเราว่า ความเสียใจรุนแรงขึ้นเพราะกระบวนการคิดบางแบบ เช่น
การคิดแบบหายนะ (Catastrophizing): มองผลลัพธ์แย่ๆ ว่าร้ายแรงเกินจริง
การอุดมคติ (Idealization): มองอนาคตที่ไม่ได้เกิดขึ้นว่า “สมบูรณ์แบบ”
หนังสือ mode สำหรับการคิดเร็วและช้า โดย Daniel Kahneman
ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยา Daniel Kahneman อธิบายว่า มนุษย์มีแนวโน้มจะ “กลัวการสูญเสีย” มากกว่าชื่นชมสิ่งที่ได้มา เราจึงรู้สึกเจ็บปวดกับ “อนาคตที่ไม่เกิดขึ้น” มากกว่าการยอมรับปัจจุบันที่มี
เช่น คนที่เสียใจที่ไม่เลือกเส้นทางอาชีพหนึ่งในอดีต จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เสียใจแค่เรื่องการตัดสินใจ แต่กำลังโศกเศร้ากับ “ตัวตนที่เขาเชื่อว่าเขาน่าจะได้เป็น” ซึ่งล้วนมาจากจินตนาการทั้งสิ้น
ลองฟังเรื่องของ เอล นักดนตรีผู้มีพรสวรรค์ เธอเคยได้รับโอกาสไปเรียนต่อเมืองนอก แต่เธอปฏิเสธไป 20 ปีผ่านไป เธอไม่ได้เสียใจกับใบสมัครที่ไม่ได้ส่ง หรือเครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้น แต่เสียใจกับ “ตัวเองที่น่าจะเป็น” — ศิลปินชื่อดัง ผู้เดินทางไปทั่วโลก
หรือเรื่องของ มาร์ก ผู้เลิกกับคนรักเพราะกลัวการผูกมัด แม้วันนี้เขาจะแต่งงานมีความสุขแล้ว แต่บางครั้งก็ยังรู้สึกเสียใจ ไม่ใช่เพราะอยากย้อนเวลากลับไป แต่เพราะเขาสงสัยว่า “ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าเลือกอีกทางหนึ่ง”
คำกล่าวของ Steve Jobs ก็เตือนสติเราไว้ว่า:
"เวลาของคุณมีจำกัด อย่าใช้มันไปกับการใช้ชีวิตตามแบบของคนอื่น อย่าติดอยู่กับกรอบความคิดที่ไม่ได้เป็นของคุณ"
ความเสียใจหลายอย่างไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราต้องการจริงๆ แต่มาจากสิ่งที่สังคมหรือคนรอบตัวคาดหวังให้เราเป็น
งานวิจัยของ Thomas Gilovich และ Victoria Medvec แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล พบว่า ผู้คนมักเสียใจกับ “สิ่งที่ไม่ได้ทำ” มากกว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว
เหตุผลก็คือ การไม่ลงมือทำอะไรเลย เปิดโอกาสให้เราคิดไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดว่า “มันน่าจะออกมาดีแค่ไหน” ขณะที่สิ่งที่เราทำไปแล้ว มีผลลัพธ์ชัดเจนให้เห็น
งานวิจัยยังเชื่อมโยงความเสียใจกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียดเรื้อรัง และการตัดสินใจที่ไม่ดีในอนาคต มันยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การปิดเรื่องราวชีวิต” (Narrative Foreclosure) — การที่คนๆ หนึ่งเชื่อว่า ชีวิตของเขาจบแล้ว เปลี่ยนอะไรไม่ได้อีกต่อไป
แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ความเสียใจฉุดรั้งชีวิตไว้?
1. คิดกลับอีกด้าน (Counter-Counterfactual Thinking):
ไม่ใช่แค่คิดว่า “มันน่าจะดีกว่านี้” แต่ลองคิดว่า “มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้” วิธีนี้ช่วยฝึกใจให้รู้สึกขอบคุณกับปัจจุบัน
2. ถามตัวเองว่าเสียใจเพราะอะไร:
เสียใจเพราะเราอยากทำจริงๆ หรือเพราะใครๆ ก็บอกว่าควรทำ? บ่อยครั้งความเสียใจเกิดจากการไม่เป็นตามความคาดหวังของคนอื่น ไม่ใช่ของตัวเราเอง
3. เปลี่ยนความเสียใจให้เป็นพลัง:
Victor Frankl นักจิตวิทยาและผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน เคยกล่าวว่า “เมื่อความทุกข์มีความหมาย มันก็จะไม่ใช่ความทุกข์อีกต่อไป”
เราสามารถใช้ความเสียใจเป็นแรงผลักดันในการสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ความเสียใจไม่ใช่แค่เงาสะท้อนของอดีต แต่มันคือภาพสะท้อนของ “อนาคตที่ไม่ได้เกิดขึ้น” แต่แทนที่เราจะปล่อยให้อนาคตที่ไม่เป็นจริงนั้นมาหลอกหลอน เราสามารถเปลี่ยนมันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชีวิตใหม่ในวันนี้
ให้ความเสียใจมีความหมาย เป็นแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้านะครับ
-อจ สุรัตน์
คนไข้หญิง อายุ 40 ปลาย เข้ามาหา บอกว่า ปวดเนื้อตัว แสบร้อน วันนึง ขยับแขนไม่ได้ เดี๋ยวซ้าย เดี๋ยวขวา ชาก็วิ่งวัน รักษามา 6 เดือนไม่หาย
ไป MRI ไม่เจออะไร ซักลึกลงไป มีความเครียดสูงมาก ค่ามะเร็งขึ้น ตรวจเยอะแยะไปหมด แม้ไม่เจอมะเร็งแต่ความเครียดฝังตัวไปแล้ว กลายเป็นคนวิตกและเกิดอาการทางกาย ทางระบบประสาท แบบไม่ทราบเหตุ
อจ ตรวจวิเคราะห์แล้วบอกว่ามันคือ Functional Neurological Disorder (FND) คือความผิดปกติที่เกิดขึ้น สมองสั่งมา แต่ไม่มีโรคจริง เรียกง่ายว่า "โรคใจสั่งมา" ตามเพลงพี่เสก โลโซ
คนเราอยู่ในสังคมที่มีแต่เรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด กลายคนกลายเป็นคน sensitive ไวต่อทุกเรื่อง เสพข่าวกระตุ้นอารมณ์ อยู่กับเวลาที่วิ่งเร็ว จนจิตใจเหนื่อยล้าตามไม่ทัน กลายเป็นจิตใจไม่ปกติ ตกใจ วุ่นวายกับทุกสิ่ง
คนไข้บอกว่า สมองมันชินกับความเครียดไปแล้ว ผ่อนคลาย กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ
อจ. รักษาและบอกไปว่า ไม่เป็นอะไร ไม่ใช่ multiple sclerosis, ไม่ใช่มะเร็ง ใจเย็น ๆ จงเรียบง่ายโดยสมัครใจ
ความเรียบง่ายโดยสมัครใจ - จงเลือกอยู่อย่างเรียบง่ายในโลกที่ซับซ้อน
ความเรียบง่ายโดยสมัครใจ ภาษาอังกฤษ เรียก Voluntary simplicity เป็น ปรัชญาที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบมินิมัลลิสต์อย่างตั้งใจ โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่มีความหมายมากกว่าทรัพย์สินวัตถุ
หัวใจสำคัญของความเรียบง่ายโดยสมัครใจคือการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับคุณค่าของตนเอง ลดความเครียดที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมสุขอย่างยั่งยืน
ความเรียบง่ายโดยสมัครใจไม่ใช่การขาดแคลน แต่เป็นการเลือกอย่างตั้งใจ
ภาพ Henry David Thoreau จาก >> https://www.americanessence.com/henry-david-thoreau-a-man-who-took-simplicity-to-heart_10408.html
A man who took simplicity to heart
เฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) ได้กล่าวไว้ว่า “ชีวิตของเราถูกทำให้สูญเปล่าไปกับรายละเอียด... จงทำให้เรียบง่าย ทำให้เรียบง่าย”
ความไม่ซับซ้อน ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Consumer Psychology (2014) พบว่า บุคคลที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน เช่น ความสัมพันธ์และการเติบโตส่วนบุคคล มีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าผู้ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความมั่งคั่งทางวัตถุ
การศึกษาในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin (2017) พบว่า ผู้ที่ให้คุณค่าแก่เวลามากกว่าเงินมักจะมีความสุขมากกว่า การทำให้ชีวิตเรียบง่ายสามารถนำไปสู่การมีสติมากขึ้น ลดภาระทางความคิด และปรับปรุงสุขภาพโดยรวม
อย่าง วิธี KonMari โดย มารี คอนโดะ (Marie Kondo) สนับสนุนให้เก็บเฉพาะสิ่งของที่ “จุดประกายความสุข Sparking joy" เท่านั้น จงทิ้งและบอกลาอย่างมีความสุข บ๊ายบาย ของมากมาย ขอบคุณที่อยู่กับเรานะ แต่ฉันจะทำให้ตัวเบาขึ้นแล้ว
โลกวิ่งเร็วเราไม่ต้องไปวิ่งตามมันหรอก เราเดินในจังหวะของเรา จังหวะที่มีความสุข ไม่ต้องไปตามใคร
- อจ สุรัตน์
อีก 100 ปี ไม่มีใครอยู่ที่นี่ แต่โลกที่ยังคงดำเนินต่อไป
ความจริงอันเรียบง่าย อาจเต็มไปด้วยความสวยงามและความเจ็บปวดพร้อมๆ กัน
ในอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้า ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้จะจากไป ชื่อของเราอาจจางหาย เสียงของเราจะเงียบลง และเรื่องราวของเราจะกลายเป็นเพียงความทรงจำ
แต่โลกจะยังคงดำเนินต่อไป—พระอาทิตย์จะยังขึ้น คลื่นจะยังซัดสาดเข้าหาฝั่ง ลมจะยังพัดผ่านราวกับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
หากชีวิตเราสั้นนัก อะไรคือสิ่งที่มีความหมาย? หรือสุดท้าย ความหมายของมันก็คือความไร้ความหมายนั่นแหละ ?
ประวัติศาสตร์คือสุสานขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาณาจักร ผู้นำ และอารยธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่
ฟาโรห์แห่งอียิปต์สร้างพีระมิดเพื่อท้าทายกาลเวลา ทว่าวันนี้กลับกลายเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว
นักปรัชญาแห่งกรีกและโรมันวางรากฐานให้กับความคิดสมัยใหม่ แต่พวกเขาเองก็กลายเป็นเพียงเถ้าธุลี
มหาเศรษฐี นักการเมือง และคนดังในปัจจุบัน ไม่ว่าอำนาจจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมเดียวกันได้
ไม่ว่าคนจะแซ่ซ้อง หรือ กร่นด่า อีก 100 ปี เราก็ไม่ได้ยินเสียแล้ว
อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 73 ปี หากคุณกำลังอ่านบทความนี้ มีโอกาสสูงว่า ภายในปี 2125 คุณและทุกคนที่คุณรู้จักจะจากไป
แต่ในปี 2125
โลกจะยังหมุนอยู่ที่ความเร็ว 1,670 กม./ชม.
น้ำขึ้นน้ำลงจะยังดำเนินไปตามจังหวะของดวงจันทร์
ต้นไม้จะยังคงแกว่งไหวไปตามสายลม โดยไม่รับรู้เลยว่าเราเคยมีชีวิตอยู่
เราทิ้งอะไรไว้เบื้องหลัง: มรดก หรือเพียงแค่ฝุ่นผง?
บางคนบอกว่า สิ่งที่เราสรรค์สร้าง นั่นคือความหลาย เหมือนเราคือศิลปิน ที่จะมีความหมายเมื่อได้สะบัดฝีแปรงไว้บนโลก
”The meaning of life exist from what we do”
หากเป็นเช่นนั้น เป้าหมายของชีวิตอาจไม่ใช่การมีชีวิตอยู่ตลอดไป แต่คือการสร้างบางสิ่งที่คงอยู่
“มนุษย์มีความตายสองครั้ง: ครั้งแรกคือเมื่อเขาสิ้นลมหายใจ และครั้งที่สองคือเมื่อไม่มีใครเอ่ยถึงชื่อของเขาอีก” – ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
หรือ จริงๆ แล้วเราไม่ต้องค้นหาความหมายจอมปลอมอะไรนั่น ก็แค่ใช้ชีวิตและยอมรับความไร้ความหมายของชีวิต แค่นั้นเอง
อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) เคยกล่าวว่า
“ชีวิตนั้นไร้ความหมาย—ยกเว้นความหมายที่เราสร้างขึ้นเอง”
ในหนังสือ The Myth of Sisyphus เขาเปรียบชีวิตเหมือนซิซิฟัส ผู้ต้องกลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่มีจุดหมาย และสุดท้ายหินก็กลิ้งลงมา แต่กามูส์กล่าวว่า เราควรยอมรับความไร้สาระนี้ และมีความสุขไปกับมัน
อย่างไรเสีย ทุกอย่างก็ต้องจบลง เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเพื่อ “ความหมาย” แต่เพื่อ ประสบการณ์—เพื่อช่วงเวลาที่เรามีอยู่ ณ ตอนนี้
หัวเราะกับเพื่อน
นั่งมองพระอาทิตย์ตก
ตกหลุมรัก
สร้างสรรค์โดยไม่ต้องการให้มันเป็นที่จดจำ
จักรวาลไม่เคยใส่ใจเรา—แต่บางทีเราอาจไม่ต้องการให้มันใส่ใจก็ได้
สิ่งเดียวที่มีความหมายคือปัจจุบัน
“เราไม่ได้จดจำวันเวลา เราจดจำเพียงช่วงเวลา” – เซซาเร ปาเวเซ (Cesare Pavese)
อจ. คิดอย่างไรหนะเหรอ
อยากทำอะไรก็ทำ จะมีใครจดจำหรือไม่ไม่เป็นไร ตราบใดที่ไม่เดือดร้อนตัวเองและมีประโยชน์กับโลกบ้าง ก่อนตายจะได้ระลึกสักเสี้ยววินาที ก็พอ
อจ สุรัตน์
แรงจูงใจสร้างยากหรือง่ายหละ บางคนบอกง่ายมากเลย เหมือนเอาแครอท ให้กระต่ายกิน มันก็จะวิ่งจนสุดแรง แต่เดี๋ยวก่อน เพราะคนไม่ใช่กระต่าย และยิ่งคนสมัยนี้แล้วด้วย จะเอาวิธีการรุ่นเก่ามาจูงใจคนรุ่นใหม่ มันออกจะ old school ไปหน่อย
แรงจูงใจในแต่ละยุคมันก็ต่างกัน หากเราดู Basic need ของ Maslow แล้วหละตอนนี้ ความปรารถนาในการใช้ชีวิต มันเลยไปไกลกว่า อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มแล้ว โดยเฉพาะมนุษย์ยุคใหม่ ที่มีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง ในแนวคิดการใช้ชีวิตให้เป็นชีวิต ใช้ชีวิตให้เห็นโลก และการใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง
แล้วอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้คนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกันหละ—เงิน รางวัล หรือสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น? นี่คือสิ่งที่องค์กรต่างๆที่ต้องจูงใจพนักงานในการทำงาน หรือแม้แต่ในสถาบันครอบครัว ที่จะจูงใจลูก ๆ ก็ต้องรู้ สิ่งนี้
ในหนังสือ Drive: The Surprising Truth About What Motivates Us แดเนียล พิงค์ (Daniel Pink) อธิบายลงลึกไปยังก้นบึ้งของแรงจูงใจว่า แรงจูงใจแบบดั้งเดิม เช่น โบนัสหรือการลงโทษ อาจไม่เพียงพอในยุคใหม่ ยุคที่แนวคิดการดำรงค์อยู่แตกต่างจากเดิม ยุคที่มีเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) เป็นพื้นฐานของสังคม โดยปัจจัยที่สร้างแรงจูงใจได้อย่างยั่งยืนจริงๆ มีอยู่สามประการ ได้แก่ อิสรภาพ (Autonomy) การพัฒนา (Mastery) และ เป้าหมายที่มีความหมาย (Purpose) ใช่ วันนี้เรามา explore ในรายละเอียดของแรงจูงใจกันตามกรอบของ 3 สิ่งนี้
อย่างแรกเลยคือ อิสรภาพทางความคิด แม้ว่ามนุษย์เราพร้อมจะทำตามกรอบมายาวนาน แต่ความฝันยังคงเป็นแรงผลักดันอันแรงกล้าและพร้อมโบยบิน ลองย้อนกลับไปดูจิตวิญญาณอันแรงกล้าผ่านวาทกรรมระดับเปลี่ยนแปลงโลกของ Martin Luther King “I have a dream” สิ
งานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ให้เห็นว่า อิสรภาพเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ทฤษฎี Self-Determination Theory (SDT) โดย Edward Deci และ Richard Ryan อธิบายว่าผู้คนจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขารู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมสิ่งที่ทำ แทนที่จะถูกบังคับ งานที่เป็นงาน routine แบบ business as ussual กับ business drived from my motivation จึงให้ผลลัพย์ที่แตกต่างกัน
Deci (1971) ยังพบว่าการสร้างแรงจูงใจแบบเดิม ๆ old school ผลักด้วยเงินหรือของแลกเปลี่ยนยิ่งเกิดผลเสีย “เมื่อล่อใจคนด้วยรางวัลภายนอกมากเกินไป พวกเขากลับสูญเสียความสนใจในงานนั้นเสียอีก” นี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "overjustification effect" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินและรางวัลไม่สามารถกระตุ้นแรงจูงใจได้ในระยะยาว ซ้ำยังทำให้รู้สึกต่อต้านเมื่อจิตใจรู้สึกว่า ส่ิงที่ทำไปนั้น เพื่อผลตอบแทน ไม่ใช่เพื่อจิตวิญญาณตามอิสระภาพทางความคิด
เราลองมาดูวิธีของ บริษัทยักษ์ใหญ่ Google ใช้วิธีในการสร้างอิสระทางความคิดกัน
ในขณะที่การทำงานประจำที่ต้องรักษามาตรฐานอย่างเข้มงวด แต่การสร้างแรงบันดาลใจและการผลักดันผ่านนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ และนี่คือจุดกำเนิดของ 20% Policy
Google อนุญาตให้พนักงานใช้ 20% ของเวลางาน ไปกับโปรเจกต์ที่พวกเขาสนใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดนวัตกรรมสำคัญอย่างการกำเนิดของ Gmail และ Google Maps นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าการให้อิสระสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และผลิตผลที่ยอดเยี่ยมได้ ดู video ของ Nat & Lo กับ 20% project ที่เค้ามาอธิบายกัน
การประยุกต์ใช้สำหรับพวกเรา
ปรับแนวทางจาก การควบคุมอย่างเข้มงวดไปสู่การให้ความไว้วางใจ โดยกำหนดเป้าหมายชัดเจน แต่ให้พนักงานเลือกวิธีการทำงานเอง
ใช้ รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เช่น การทำงานจากระยะไกล หรือการกำหนดเวลาเข้างานแบบยืดหยุ่น
ส่งเสริม การเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยให้พนักงานเลือกแนวทางการเติบโตของตัวเอง
หากดูตามพื้นฐานของทฤษฎีแห่งวิวัฒนาการของ Charles Darwin สิ่งมีชีวิตจะมีแรงขับในการพัฒนาในการเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่ โดยมีการตอบแทนคือรางวัลที่ทำให้เกิดความสุขและพึงพอใจ และการพัฒนาตัวเอง ก็คือหนึ่งในจิตสำนึกในการดำรงค์อยู่
งานวิจัยทางประสาทวิทยา (neuroscience) จากมหาวิทยาลัย Stanford พบว่า เมื่อมนุษย์รับรู้ว่าตนเองกำลังพัฒนาทักษะ สมองจะหลั่งสารโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความสุขและแรงจูงใจ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมวิดีโอเกมถึงทำให้คนติด—เพราะมันให้เกิด feedback loop ทันทีเมื่อเราพัฒนาความก้าวหน้าขึ้นทีละขั้น นั่นเป็นเหตุให้แรงจูงใจคือ การที่เราพัฒนาให้เก่งขึ้น แม้ว่าจะเหนื่อยยากแต่รางวัลมันก็หอมหวานและชื่นใจ
amazon career choice
Amazon ลงทุนกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในโครงการฝึกอบรมพนักงาน โดยมีโครงการ "Career Choice" ที่ช่วยให้พนักงานพัฒนาทักษะในสาขาที่ต้องการ แม้กระทั่งอาชีพที่อยู่นอกบริษัท โดยบริษัทสนับสนุน ค่าเล่าเรียนฟรีล่วงหน้า – สนับสนุนสูงสุดถึง $5,250 ต่อปี ครอบคลุมค่าเทอม หนังสือ และค่าธรรมเนียม ให้ ตารางเวลาที่ยืดหยุ่น – สามารถทำงานไปพร้อมกับการเรียน โค้ชแนะแนวอาชีพ – รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อความสำเร็จ เส้นทางอาชีพที่เป็นที่ต้องการ – เพิ่มโอกาสก้าวหน้าใน Amazon หรือออกไปทำงานสายอื่นได้อย่างมั่นใจ
แม้ว่า การที่ train พนักงานในทักษะใหม่ จะทำให้พนักงาน ได้เปลี่ยนสายงาน แต่ผลประโยชน์นั้นได้แก่ amazon มากกว่า โดยทำให้ พนักงานมีการทุ่มเทในการทำงาน เมื่อบริษัททุ่มเทสิ่งที่มีความหมายให้แก่เขา อีกทั้งพนักงาน ยังได้มีโอกาสพัฒนาทักษะอันหลากหลาย และอาจได้เปลี่ยนงานทำในทักษะที่สูงขึ้นและเป็นประโยชน์แก่บริษัทระยะยาว นอกจากนี้ทาง amazon ยังได้รับการยกย่องถึงการเป็นบริษัทที่น่าทำงานและทำให้ branding ดีในการ recruit คนเก่งเข้ามาทำงานด้วย
นี่คือพนักงานส่วนหนึ่งที่ผ่าน career choice project นี้
ซาร่า – จากพนักงานคลังสินค้าสู่ผู้ช่วยพยาบาล ซาร่าเริ่มต้นที่ Amazon ในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า แต่ด้วยโปรแกรม Career Choice เธอเลือกเรียนหลักสูตรพยาบาล และปัจจุบันได้งานเป็นผู้ช่วยพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
ไมค์ – เปลี่ยนเส้นทางสู่วงการ IT ไมค์ทำงานเป็นพนักงานแพ็กของที่ศูนย์กระจายสินค้า แต่ต้องการเข้าสู่สายงานเทคโนโลยี เขาเลือกเรียนหลักสูตรไอทีและได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ซัพพอร์ตไอทีหลังจากจบหลักสูตร
อเล็กซ์ – พัฒนาธุรกิจของตัวเอง อเล็กซ์ต้องการเรียนรู้ด้านธุรกิจและการบริหาร เขาใช้ Career Choice ลงทะเบียนเรียนด้านบริหารธุรกิจ และปัจจุบันเขาสามารถเปิดธุรกิจขนาดเล็กของตนเองได้สำเร็จ
มนุษย์เราปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่มีโอกาสหรือไม่ และหากมีโอกาสมีมีความช่วยเหลือ นั่นเป็นสิ่งที่สร้างกำลังใจเป็นอย่างดี
ในการทำงานของบริษัทที่มองกาลไกล นอกจาก การวางวิสัยทัศน์ (vision) เพื่อให้องค์กรมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันแล้ว statement of purpose หรือ สิ่งที่ตอบคำถามว่า ทำไมธุรกิจของเรายังคงอยู่ นั้นก็มีความสำคัญ เสมือนเป็นสิ่งกระตุ้นความรู้สึกลึก ๆ ของการมีตัวตนและความหมายเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง “ความหมายในการคงอยู่” จึงเป็นแรงขับเคลื่อนของชีวิตนั่นเอง
การศึกษาของ McKinsey & Company (2021) พบว่า พนักงานที่รู้สึกว่างานของตนมีความหมาย มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า นอกจากนี้ องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายมักมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันในระยะยาว
เรามาลองดูบริษัทที่มอบความหมายกับคำว่า ทำไม คุณต้องสิ่งนี้ที่นี่
Patagonia บริษัทขายอุปกรณ์ เส้นผ้าสำหรับ outdoor activities เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย ด้วยโครงการ “1% for the planet” พวกเขา บริจาค 1% ของยอดขายเพื่อสนับสนุนสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ลูกค้าซ่อมแซมเสื้อผ้าแทนการซื้อใหม่ พนักงานของ Patagonia จึงรู้สึกภูมิใจในงานที่ทำ และบริษัทก็ได้รับความภักดีจากลูกค้าอย่างสูง
หากเคยได้ยิน คำว่า เราต่างค้นหาความหมาย ก็สามารถใช้คำเหล่านี้ในการสร้างแรงจูงใจเช่นเดียวกัน
สื่อสาร วิสัยทัศน์ขององค์กร ให้ชัดเจนและทำให้พนักงานเห็นว่าตนเองมีบทบาทอย่างไร
ปรับโครงสร้างแรงจูงใจให้ สอดคล้องกับคุณค่าระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลกำไรระยะสั้น
ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้ ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
หากมองลงไปยังเบื้องลึกของจิตใจ การนำความหมาย สิ่งที่เป็นแรงพลักดันทางธรรมชาติ เพื่อมาเติมเต็มแก่พนักงาน ซึ่งก็คือเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทและองค์กรก้าวหน้าเท่านั้น เราจะได้เห็นการหลอมรวมของชีวิตไปกับกลไกที่ทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
"Atomic Habits" ทำไมทุกคนถึงพูดถึงหนังสือเล่มนี้?
เห็นชื่อ James Clear = ต้องอ่านแล้ว นะ
สรุป 10 แนวคิดสำคัญที่ช่วยให้สร้างนิสัยดีๆ ได้แบบง่ายๆ
"You do not rise to the level of your goals. You fall to the level of your systems."
คนเราจะไม่ไปถึงเป้าหมายถ้าระบบชีวิตไม่เอื้อ เป้าหมายตั้งไว้สวยแค่ไหน แต่ถ้าชีวิตยังเต็มไปด้วยนิสัยเดิมๆ ก็เท่านั้น
เปลี่ยนชีวิต = เปลี่ยนระบบ ไม่ใช่แค่ตั้งเป้าหมาย
2. ทำไม “วินัย” ถึงไม่เวิร์กเสมอไป?
หลายคนคิดว่าเราต้อง มีวินัย แต่จริงๆ แล้ว คนที่ประสบความสำเร็จ ออกแบบสภาพแวดล้อม ให้ตัวเองไม่ต้องใช้วินัยเยอะๆ
อยากออกกำลังกาย? วางรองเท้าวิ่งให้เห็นทุกวัน อยากอ่านหนังสือ? เอามือถือไปไว้อีกห้อง
3. "Habit stacking" คือการเชื่อมนิสัยใหม่เข้ากับนิสัยเดิม
เช่น "หลังจากตื่นนอน → ฉันจะดื่มน้ำ 1 แก้ว"
"หลังจากแปรงฟัน → ฉันจะวิดพื้น 10 ที"
ใช้สิ่งที่เราทำอยู่แล้วเป็นตัวช่วยสร้างนิสัยใหม่
4. "The 2-minute rule" - เริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด
อยากเป็นนักอ่าน? เริ่มจากอ่าน 1 หน้า
อยากเป็นคนฟิต? เริ่มจากวิดพื้น 2 ที
ทำให้ง่ายจน "ขี้เกียจก็ทำได้" แล้วนิสัยจะติดตัวเอง
5. นิสัยดีๆ ควร "ชัด-ง่าย-น่าสนใจ"
ชัด: มองเห็นได้ เช่น "เอาชุดออกกำลังกายมาไว้ที่เตียง"
ง่าย: ลดแรงต้าน เช่น "เปิดแอปที่ใช้เรียนภาษาทิ้งไว้เลย"
น่าสนใจ: ทำให้สนุก เช่น "ออกกำลังกายไป ดู Netflix ไป"
6. "Identity-Based Habits" - เปลี่ยนนิสัย = เปลี่ยนตัวตน
อย่าตั้งเป้าว่า "ฉันจะวิ่ง" แต่ให้บอกตัวเองว่า "ฉันเป็นคนที่รักสุขภาพ"
คนที่มองตัวเองเป็น "นักอ่าน" อ่านหนังสือได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องฝืน
7. กฎ "Never miss twice"
พลาด 1 วัน = โอเค
พลาด 2 วันติด = เริ่มกลับมาเถอะ!
ชีวิตจริงไม่ต้องเป๊ะ 100% แค่รักษาความสม่ำเสมอพอ
8. นิสัยแย่ๆ ใช้หลักเดียวกันเป๊ะ!
อยากเลิกโซเชียล? เอามือถือไปไว้อีกห้อง
อยากกินขนมน้อยลง? ไม่ซื้อติดบ้าน
ถ้าอยากเลิกนิสัยไหน ให้ทำให้มัน "ยาก"
9. "The Goldilocks Rule" - ยากพอประมาณ สนุกกว่าเยอะ
ถ้าง่ายไป → เบื่อ
ถ้ายากไป → ท้อ
เลือกความท้าทายที่ "พอดี" เราจะอยากทำต่อ
10. "Success is the product of daily habits, not once-in-a-lifetime transformations."
ความสำเร็จไม่ได้มาจากการเปลี่ยนชีวิตข้ามคืน แต่มาจาก "นิสัยเล็กๆ" ที่ทำทุกวัน
.
สามอย่างที่อยากให้ได้จากโพสต์นี้:
- ปรับนิสัยสำคัญกว่าตั้งเป้าหมาย
- เริ่มจากอะไรที่ง่ายมากๆ
- ทำให้เป็นเรื่องของ "ตัวตน" ไม่ใช่แค่ "สิ่งที่ต้องทำ"
.
ปล. หนังสืออื่นๆ ที่อ่านแล้วโคตรเวิร์ก: The Power of Habit, Deep Work, So Good They Can't Ignore You.
5 มนุษย์พิษ ในที่ทำงาน [หนีปายยยย]
ผลไม้พิษ กินแลัวตาย และในขีวิตจริงคงไม่มีเจ้าชายมาจุมพิตนะ ส่วนมนุษย์พิษ นี่ เจอแล้ว อจากตาย มากกว่า เพราะเจอแล้ว toxic มาดูกัน
1. สายจู้จี้จุกจิก (The Micromanager): หมกมุ่นกับทุกดีเทล ชอบตามติดคุณทุกฝีก้าว คอยตรวจงานทุกจุดจนคุณแทบจะหายใจไม่ออก
2. สายชอบเม้าท์ (The Gossip): รู้เรื่องของทุกคนและมีความสุขกับการกระจายข่าวลือ (บางครั้งก็เป็นเรื่องของคุณซะเอง!)
3. สายหายตัว (The Ghost): โผล่มาแบบผ่านๆ ไม่รับผิดชอบอะไร แถมบางทีดันได้รับเครดิตไปแบบงงๆ
4. สายบ้างาน (The Overachiever): ทำงานหนักเกินไปจนเครียด แบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว แต่ลึกๆ ก็น้อยใจที่ไม่มีใครช่วย
5. สายขัดแข้งขัดขา (The Saboteur): แอบบ่อนทำลายความพยายามของคุณ เพื่อให้ตัวเองดูดีกว่า
💬 เจอคนแบบไหนกันบ้างครับ
- อจ สุรัตน์
อ่านละ สะดุด จริงๆ นะ
“ผมสนับสนุนการทำตามความฝันของคุณนะ แต่ขอให้หยุดวิ่งไล่ตามมันถ้าสุขภาพของคุณกำลังแย่ลง ถ้าคุณจัดการความคิดของตัวเองไม่ได้ ก็ให้ดูแลตัวเองก่อน ถ้าความสัมพันธ์ของคุณกำลังพัง ก็ฟื้นฟูมันขึ้นมาใหม่ ความฝันของคุณต้องการสิ่งที่ดีที่สุดจากตัวคุณ ดังนั้นขอให้คุณใส่ใจดูแลตัวเองให้ครบทุกด้านเป็นอันดับแรก!”
#กับพี่ชบา วิ่งเช้าวันที่ 2 มค 68
มันเป็นเรื่อง กรอบความคิด (mindset) และ กรอบการทำงาน (framework)
สงสัยไหมว่า…
• ทำไมบางคนออกกำลังกายจนร่างกายแข็งแรง?
• ทำไมบางคนจัดการอารมณ์ได้ดี ไม่ว่าเผชิญปัญหาแค่ไหน?
• ทำไมบางคนร่ำรวย ทำอะไรก็สำเร็จ?
นั่นสินะ ทำไม?
มันไม่ได้มาจากโชคชะตา แต่เกิดจาก Mindset และ Framework ที่ช่วยให้พวกเขามีวิธีคิดและแนวทางการลงมือทำที่ชัดเจน
Mindset กรอบความคิด: รากฐานของความสำเร็จ
Mindset หรือกรอบความคิด คือความเชื่อและทัศนคติที่เรามีต่อตนเองและโลก มีงานวิจัยจาก Carol S. Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ศึกษาผลของ Fixed Mindset (กรอบความคิดแบบตายตัว) และ Growth Mindset (กรอบความคิดแบบเติบโต) พบว่า
ผู้ที่มี Growth Mindset เชื่อว่าความสามารถสามารถพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้และความพยายาม พวกเขาจะรับมือกับความล้มเหลวได้ดี และมองปัญหาเป็นโอกาสในการเรียนรู้ (Dweck, 2006)
ตัวอย่าง:
• ออกกำลังกายจนแข็งแรง: คนที่มี Growth Mindset มองว่าความแข็งแรงเป็นผลจากการฝึกฝน ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด พวกเขาจึงลงมือทำทีละน้อยและพัฒนาต่อเนื่อง
มี Quote นึงที่ชอบ
Carol S. Dweck ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success กล่าวไว้ว่า
“The view you adopt for yourself profoundly affects the way you lead your life.”
(มุมมองที่คุณมีต่อตัวเองส่งผลลึกซึ้งต่อวิธีการใช้ชีวิตของคุณ)
Framework กรอบกาคทำงาน: วิธีการทำให้สำเร็จ
Framework หรือโครงสร้างการทำงาน คือแผนหรือระบบที่ช่วยเปลี่ยนความตั้งใจเป็นการกระทำ งานวิจัยพบว่า คนที่ใช้ Framework ชัดเจนมักจะประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะพวกเขามีขั้นตอนและเป้าหมายที่วัดผลได้
ตัวอย่าง Framework ที่มีประสิทธิภาพ:
1. SMART Goals Framework
Framework นี้ช่วยตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน:
• Specific (ชัดเจน): เป้าหมายต้องระบุได้ เช่น “ลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม”
• Measurable (วัดผลได้): เช่น ชั่งน้ำหนักทุกสัปดาห์
• Achievable (ทำได้จริง): ตั้งเป้าหมายที่ไม่เกินความสามารถ
• Relevant (เกี่ยวข้อง): สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิต เช่น “ลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดี”
• Time-bound (มีกำหนดเวลา): เช่น “บรรลุเป้าหมายใน 3 เดือน”
2. ABC Model
Framework นี้มาจาก Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ช่วยจัดการอารมณ์:
• A (Activating Event): ระบุเหตุการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น การทะเลาะกับเพื่อน
• B (Beliefs): ระบุความคิดหรือความเชื่อ เช่น “เขาไม่ให้เกียรติเรา”
• C (Consequences): ระบุผลลัพธ์ เช่น ความโกรธและการตอบสนอง
งานวิจัยจาก Cognitive Therapy and Research พบว่า การใช้ ABC Model สามารถลดความเครียดและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ (Ellis & Dryden, 1997)
ตัวอย่าง: Mindset + Framework ในชีวิตจริง
1. ออกกำลังกายจนแข็งแรง:
• Mindset: เชื่อว่าการออกกำลังกายคือการลงทุนในสุขภาพ ไม่ใช่แค่การลดน้ำหนัก
• Framework: ใช้ SMART Goals เช่น เดินวันละ 30 นาที และเพิ่มขึ้นทีละ 5 นาทีทุกสัปดาห์
2. จัดการอารมณ์:
• Mindset: มองว่าความโกรธเป็นสิ่งที่จัดการได้
• Framework: ใช้ ABC Model ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ และหาวิธีตอบสนองเชิงบวก
How to: เริ่มต้นเปลี่ยน Mindset และใช้ Framework
1. ปรับ Mindset ของคุณ:
• ฝึกมองความล้มเหลวเป็นบทเรียน เช่น ถ้าล้มเหลวในการตั้งเป้าหมาย ให้ถามตัวเองว่า “ฉันเรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้?”
2. ใช้ Framework ชัดเจน:
• ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ก่อน เช่น ออกกำลังกาย 10 นาทีต่อวัน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
• วางแผนเป็นขั้นตอน เช่น ใช้ SMART Goals
3. วัดผลและปรับปรุง:
• บันทึกความก้าวหน้า เช่น บันทึกการออกกำลังกายหรืออารมณ์ในแต่ละวัน
• ถ้า Framework ที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล ให้ปรับเปลี่ยน เช่น ลดเป้าหมายให้เล็กลงเพื่อเริ่มใหม่
อจ. สรุปไว้ ง่ายๆ แบบนี้นะ
Mindset เป็นรากฐานของการพัฒนา ส่วน Framework คือเครื่องมือที่ช่วยให้การลงมือทำสำเร็จ
ดังนั้น หากเรามี Mindset ที่เหมาะสมและ Framework ที่ชัดเจน เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เหมือนกับคนที่เราชื่นชม
- อจ สุรัตน์
ปล คือ ชบามันเดินตามตลอดเลย มานั่งอุ้มมันไว้ ท่าจะคิดถึงคน ปิดปีใหม่หลายวัน
“คนที่เป็นที่รู้จักดีที่สุด ชนะคนที่ดีที่สุด” เพราะการเป็นที่รู้จักสำคัญกว่าความสมบูรณ์แบบ
ลองนึกภาพดูว่า คุณอบคุกกี้ที่อร่อยที่สุดในโลก คุกกี้ของคุณอร่อยจนไม่มีใครเทียบได้ แต่คุณเก็บมันไว้ในครัว ไม่ได้บอกใครเลยว่าคุณมีคุกกี้ที่ยอดเยี่ยมแบบนี้ คุณคิดว่าคนอื่นจะรู้จักคุณจากคุกกี้ไหม? คำตอบคือ ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคนไม่สามารถรักหรือชื่นชมสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อน
นี่คือความหมายของคำว่า “คนที่เป็นที่รู้จักที่สุด ชนะคนที่ดีที่สุด” มันหมายความว่า แม้ว่าคุณจะเก่งที่สุดหรือมีสิ่งที่ดีที่สุดในโลก แต่มันจะไม่มีค่าอะไรเลยถ้าคนไม่รู้จักคุณ
ความคุ้นเคยสร้างความไว้วางใจ
ลองคิดถึงแบรนด์เครื่องดื่ม Coca-Cola ดูสิ มันเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยหรือดีต่อสุขภาพที่สุดในโลกไหม? อาจจะไม่ใช่ แต่ทำไมคนถึงชอบและเชื่อใจมัน? เพราะมันอยู่ทุกที่ ทั้งในทีวี ร้านค้า และงานใหญ่ๆ คนคุ้นเคยกับมันจนรู้สึกวางใจ
เหมือนกับคำพูดที่ว่า “ถ้าคุณไม่ปรากฏตัวในสายตา คนก็จะลืมคุณไป”
คุณต้องเล่าเรื่องของตัวเอง
แม้แต่ไอเดียที่ดีที่สุดในโลกก็ต้องมีการสื่อสารออกไป ลองดู Walt Disney สิ เขาไม่ได้แค่สร้างตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์แล้วหวังว่าคนจะสังเกตเห็น เขาทำงานหนักเพื่อเล่าเรื่องราวให้คนตกหลุมรักตัวละครของเขา และตอนนี้ Disney ก็กลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังไปทั่วโลก
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดว่า “ความคิดสร้างสรรค์คือความฉลาดที่สนุกกับตัวเอง” แต่แม้แต่ไอน์สไตน์เองก็ต้องเผยแพร่ไอเดียของเขาผ่านหนังสือและการบรรยายให้โลกได้เข้าใจ
อยู่ในที่ที่คนมองหา
ถ้าคุณอยากให้คนสังเกตเห็น คุณต้องไปอยู่ในที่ที่เขาอยู่ ลองนึกถึงยูทูบเบอร์คนโปรดของคุณ ถ้าพวกเขาโพสต์วิดีโอแค่ปีละครั้ง คุณจะยังติดตามเขาอยู่ไหม? อาจจะไม่ใช่ เพราะความสม่ำเสมอทำให้คนไม่ลืม
แบรนด์อย่าง Apple และ Nike เข้าใจเรื่องนี้ พวกเขาแปะโลโก้และข้อความไว้ทุกที่ ทั้งในร้านค้า โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่งานกีฬาใหญ่ๆ นั่นคือวิธีที่พวกเขาทำให้คุณนึกถึงพวกเขาเป็นอันดับแรกเวลาคุณอยากได้โทรศัพท์หรือรองเท้า
ความสม่ำเสมอคือหัวใจสำคัญ
การปรากฏตัวแค่ครั้งเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้คนจดจำคุณได้ คุณต้องปรากฏตัวซ้ำๆ และต่อเนื่อง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสโลแกนของ Nike อย่าง “Just Do It” ถึงยังคงเป็นที่รู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะพวกเขาเตือนคนเสมอว่าพวกเขาคือใครและยืนหยัดเพื่ออะไร
นักเขียนชื่อดัง Dr. Seuss เคยพูดว่า “บางครั้งคำถามก็ดูซับซ้อน แต่คำตอบนั้นเรียบง่าย” และคำตอบง่ายๆ ที่นี่ก็คือ ทำต่อไป ปรากฏตัวให้เห็น และอย่ายอมแพ้
ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ แค่เก่งหรือมีสิ่งที่ดีที่สุดไม่พอ คุณต้องทำให้คนรู้จักคุณด้วย สร้างแบรนด์ของตัวเอง เล่าเรื่องราว และทำให้ตัวเองปรากฏตัวอยู่เสมอ
อย่างที่ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple เคยพูดว่า “นวัตกรรมคือสิ่งที่แยกผู้นำออกจากผู้ตาม” แต่แม้แต่เขาก็รู้ว่า นวัตกรรมจะมีค่าได้ก็ต่อเมื่อคนมองเห็นมัน
นักปรัชญาเป็นนักสงสัยและตั้งทฤษฎี โดยการตั้งคำถามถึงความเป็นไปของชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป เป้าเพื่อให้เข้าใจชีวิตได้ดีขึ้น
หลักพุทธของชาวตะวันออก หรือ หลักปรัชญาของนักคิดชาวตะวันตก ต่างเหมือนแม่น้ำหลากหลายสาย ที่บรรจบในเรื่องเดียวกัน
ภาพของชาวตะวันตกผมขาวคาบไปป์นามอลัน วัตส์ (Alan Watts) ขึ้นชื่อเป็นนักปรัชญา นักเขียน และนักพูดชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในการนำเสนอและเผยแพร่ปรัชญาตะวันออกให้กับชาวตะวันตก มีไม่กี่คนที่จะคนผสมหลักคิดจากสองฟากโลกให้กลมกล่อม
เขานำหลักคิดจากพุทธศาสนาเซน, เต๋า และฮินดู มาช่วยเชื่อมโยงวิถีคิดระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ผลงานของวัตส์โดดเด่นในการทำให้ปรัชญาที่ซับซ้อนเข้าใจง่ายขึ้น และส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างขึ้น
อจ. เล่าให้ฟังถึงแนวคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตจาก อลัน วัตส์
วัตส์สอนว่าการอยู่กับปัจจุบัน ("being here now") คือสิ่งที่สำคัญในการค้นหาความสงบที่แท้จริง เขามองว่าสังคมตะวันตกส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับการพุ่งสู่เป้าหมายในอนาคตจนทำให้ไม่สามารถมีความสุขกับชีวิตในขณะนี้ มีเพียงปัจจุบันเท่านั้นที่ควบคุมได้
หลักคิด "ตัวตนที่ลวงตา" หรือ อัตตา (ความรู้สึกถึงตัวตน) นั้นเป็นเพียงการสร้างขึ้นตามสังคมเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง เขาเสนอว่าเสรีภาพที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากการเข้าใจในความลวงตานี้และมองเห็นตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เข้าใจว่าเป็นตัวตน เกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อดับสลาย มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรามชาติตามกาลเวลา
จงมองการมองชีวิตอย่างสนุกสนานและมีอารมณ์ขัน ไม่มีชีวิตใดมีความสุขได้ตลอด แม้แต่คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ชีวิตเหมือนกับการเต้นระบำไปตามการบรรเลงทำนองของชีวิต มันเป็นธรรมชาติ มีเร็ว มีช้า มีตื่นเต้น มีแผ่วเบา มีโศกและสมหวัง คละเคล้าตัวโน๊ต คุณค่าของชีวิตอยู่ที่การสัมผัสประสบการณ์ในขณะนั้น ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์สุดท้าย ซึ่งทัศนคตินี้ทำให้ผู้คนไม่รู้สึกโศกเศร้าเมื่อผิดหวังไปมากจนทำให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตดับสลายลง
โดยอ้างอิงจากเต๋า วัตส์ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เขาสอนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ ไม่ใช่แยกออกจากมัน และการเข้าใจถึงความเชื่อมโยงนี้จะทำให้ชีวิตสมดุลมากขึ้น เราคือหนึ่งในธรรมชาติ มิอาจตัดขาดจากกัน
อิทธิพลต่อวัฒนธรรมต่อต้านในยุค 1960: วัตส์มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงยุค 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับค่านิยมทางสังคมและมองหาจิตวิญญาณและความรู้สึกใหม่ ๆ หนังสือของเขาหลายเล่ม เช่น The Way of Zen และ The Book: On the Taboo Against Knowing Who You Are ช่วยเปิดประตูบานใหม่ บานที่มองปรัชญาตะวันออกผ่านพริ้วเข้ามาให้ชาวตะวันตกที่กำลังสับสนในโลกของวัตถุนิยมได้หายใจอย่างสดชื่นอีกครั้ง
คนเรารู้วันเกิด ไม่รู้วันตาย
เราใช้ชีวิตเหมือนเวลาไม่มีวันหมด
เราหายใจโดยไม่รู้ว่านี่คือสัญญาณของการมีชีวิตอยู่
ทุกขณะที่เราคิด ทุกขณะที่เราทำ มันเปลี่ยนแปลงเราเป็นคนใหม่เสมอ
เราต่างเดินอยู่บนเส้นด้ายที่เปราะบางของชีวิต
ทุกนาที มีคนจากโลกนี้ไป และ เราก็กำลังขยับต่อแถวไปเรื่อย ๆ
ไม่รู้ว่า เราจะก้าวข้ามเส้นนั้นก่อนหรือหลังใคร แต่ที่แน่ ๆ มีคนไป ก่อนเรา และ ไปหลังเรา อย่างไม่รู้ตัว
มีสติและทำทุกวัน ทุกขณะจิตให้ดีที่สุด
จะทำอะไร คิดให้ดี เพราะชีวิตเป็นของเรา
- อจ สุรัตน์
"มีความเศร้าบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการรู้มากเกินไป จากการเห็นโลกในแบบที่มันเป็นจริง ๆ มันเป็นความเศร้าที่มาจากการเข้าใจว่าชีวิตไม่ใช่การผจญภัยอันยิ่งใหญ่ แต่เป็นเพียงช่วงเวลาที่เล็กน้อยและไม่สำคัญ ว่าความรักไม่ใช่นิทาน แต่เป็นอารมณ์ที่เปราะบางและชั่วคราว ว่าความสุขไม่ใช่สภาวะถาวร แต่เป็นเพียงแวบหนึ่งของสิ่งที่เราจับไว้ไม่ได้ และในความเข้าใจนั้น ก็มีความเหงาลึกซึ้ง ความรู้สึกที่เหมือนถูกตัดขาดจากโลก จากผู้คนอื่น ๆ และจากตัวเอง" —เวอร์จิเนีย วูล์ฟ
หากใครได้อ่านคำกล่าวนี้ คำที่สวยงามราวกับสัมผัสจากก้นลึกของหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์และสิ่งที่ต้องเผชิญ ก็คงสงสัยว่า คนเขียนบรรยายราวกับเป็นแผ่นฟองน้ำที่ซึมซับเอาความจริงที่โหดร้ายของโลกอย่างลึกซึ้งและโดดเดี่ยว และนั่นก็เป็นการเข้าใจไม่ผิดเลย ศิลปิน เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เอาใจเข้าเล่นกับอารมณ์ของโลกจนกัดกินตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าและยากเยียวยา
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) เป็นนักเขียนและนักวิจารณ์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผลงานของเธอมีความโดดเด่นในด้านสไตล์การเขียนที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และบรรยายความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของตัวละคร ซึ่งมักสะท้อนถึงการต่อสู้ทางอารมณ์และจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นอย่างมาก นักอ่านบางคนได้กล่าวไว้ว่า เธอบรรยายได้ราวกับเข้าไปนั่งท่ามกลางหัวใจของอารมณ์ที่อยู่ลึกสุดของใครคนนั้น
เวอร์จิเนียเกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1882 ในครอบครัวที่มีความรู้และมีบทบาทสำคัญในวงการวรรณกรรมแห่งอังกฤษ เธอเป็นบุตรของนักเขียนและนักวิจารณ์อย่าง Sir Leslie Stephen ความสนใจในด้านวรรณกรรมของเธอได้รับการสนับสนุนตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยความสามารถพิเศษในการสังเกตและสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ผ่านบทความและนวนิยายที่เธอเขียน
ผลงานที่มีชื่อเสียงของวูล์ฟ ได้แก่ "Mrs Dalloway," "To the Lighthouse," และ "Orlando," ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นตัวอย่างของนวนิยายที่สะท้อนความคิดที่ลึกซึ้งและตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ ความทรงจำ และการเปลี่ยนแปลงของเวลา
เรื่องราวและผลงานของเธอไม่ได้สะท้อนแค่ความงดงามของการเขียน แต่ยังแฝงไปด้วยปรัชญาชีวิตที่เชื่อมโยงกับความทุกข์ ความเหงา และความหมายของการมีชีวิตอยู่
ผลงานของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านทั่วโลกได้เรียนรู้และสำรวจความซับซ้อนของชีวิต ความเศร้า และความงามในความเปราะบางของมนุษย์
“การเข้าใจธรรมชาติและความโหดร้ายของมนุษย์ ที่ต่อมาได้กัดกินหัวใจอันแข็งแกร่งของเธอไป” หากเข้าใจซาตาน ต้องเอาหัวใจไว้กับซาตาน
ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต วูล์ฟประสบกับความเครียดและความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองและการสูญเสียคนใกล้ชิด รวมถึงความยากลำบากในการจัดการกับอาการทางจิตที่เธอประสบมาตลอดชีวิต เธอมีประวัติของการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและอาการทางจิตอื่น ๆ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง
ก่อนที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย วูล์ฟได้เขียนจดหมายถึงสามีของเธอ เลโอนาร์ด วูล์ฟ (Leonard Woolf) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังและความคิดที่ว่าเธอไม่สามารถฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยทางจิตได้ ในจดหมายดังกล่าว เธอได้บอกเล่าถึงความรู้สึกของเธอที่ไม่อยากเป็นภาระให้กับคนที่รักอีกต่อไป
วันนั้นแห่งห้วงชีวิต วูล์ฟได้เดินออกจากบ้านในซัสเซ็กซ์ โดยใส่หินลงไปในกระเป๋าของเธอเพื่อช่วยถ่วงน้ำตัวเอง ก่อนที่จะเดินไปยังแม่น้ำโอเซ (River Ouse) และกระโดดลงไปในน้ำ ร่างของเธอถูกพบเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1941 โดยเจ้าหน้าที่ หลังจากที่หายไปหลายสัปดาห์
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานที่ลึกซึ้งในขณะที่เธอต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า ความเชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์และปัญหาทางสุขภาพจิตเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรณีของวูล์ฟเท่านั้น นักเขียนและศิลปินจำนวนมาก เช่น เอ็ดการ์ อัลลัน โพ, เอิร์นเนสต์ เฮมิงเวย์ และ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ล้วนมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินที่ประสบความสำเร็จและต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
งานวิจัยทางจิตวิทยาและประสาทวิทยาได้ให้ความสนใจอย่างมากในความเชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์และสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ศิลปินและนักเขียนมักมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับโรคซึมเศร้าในระดับที่สูงกว่าประชากรทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปัจจัยหลายอย่างอาจทำให้ศิลปินมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหานี้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือธรรมชาติของงานสร้างสรรค์ที่ต้องพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในมุมลึกซึ้งและซับซ้อน การขบคิดในเชิงปรัชญาและความหมายของชีวิตอาจเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์และอารมณ์ที่แปรปรวน
งานวิจัยจากสถาบัน Karolinska Institute ในสวีเดนพบว่า ผู้ที่มีอาชีพสร้างสรรค์ เช่น ศิลปิน นักเขียน และนักดนตรี มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะซึมเศร้าถึง 25% มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในสาขาวรรณกรรมที่ต้องใช้การสะท้อนความคิดภายในตัวเองอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) และโรควิตกกังวล
นอกจากนี้ สมองของผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมักมีการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับความเปราะบางทางจิตใจ
การศึกษาทางประสาทวิทยา (Neuroscience) ชี้ให้เห็นว่าสมองของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักมีการทำงานในแบบที่แสดงความเชื่อมโยงกับอารมณ์ที่ซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง เช่น ระดับสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine) มักไม่สมดุลในคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลอารมณ์และการคิดเชิงนามธรรม อย่างเช่น "สมองส่วนหน้าซ้าย" (Left Prefrontal Cortex) และ "ระบบลิมบิก" (Limbic System) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอารมณ์และการตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งในศิลปินและนักเขียนที่มักใช้สมองส่วนนี้ในการสร้างสรรค์ผลงาน อาจทำให้พวกเขามีความไวต่ออารมณ์เชิงลบมากกว่าคนทั่วไป
การเข้าใจอารมณ์นักคิด และความเข้าใจโลกของศิลปินที่สอดแทรกตัวเองเข้าไปเข้าใจธรรมชาติ ทำให้เราต้องมาคิดคำนึงถึงการเข้าใจอีกด้านของโลกในแนวพุทธและการปล่อยวาง จึงทำให้หลุดออกจากความจริงที่โหดร้ายกลายเป้นแสงสว่างอีกด้านหนึง
#VirginiaWoolf #ชีวิตและวรรณกรรม #แรงบันดาลใจจากหนังสือ #วรรณกรรมคลาสสิก #ความเศร้าในชีวิต